วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

อุทยานแห่งชาติขุนขาน

อุทยานแห่งชาติขุนขาน
อุทยานแห่งชาติขุนขาน
อุทยานแห่งชาติขุนขานอยู่ใน พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง และป่าแม่แจ่ม ท้องที่ตำบลแม่สาบ ตำบลบ่อแก้ว ตำบลสะเมิงเหนือ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง และตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่นาจาร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่


    สำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ ได้ทำการสำรวจและพิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ มีสภาพธรรมชาติอันสวยงาม มีน้ำตก หน้าผา ถ้ำ หลายแห่งเหมาะสมให้กรมป่าไม้ทราบและพิจารณา กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งที่ 934/2536 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2536 ให้นายสุรศักดิ์ วุฒิอิ่น ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนอุทยานแห่งชาติ มาดำเนินการสำรวจจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติขุนขาน”

    การดำเนินการสำรวจจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขุนขาน ได้ดำเนินการสำรวจมีเนื้อที่ประมาณ 442,500 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง และป่าแม่แจ่ม ท้องที่ตำบลแม่สาบ ตำบลบ่อแก้ว ตำบลสะเมิงเหนือ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิงและตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่นาจาร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ รายงานให้ ส่วนอุทยานแห่งชาติและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2538 ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า พื้นที่บริเวณที่สำรวจจัดตั้งทับซ้อนกับพื้นที่ที่กำลังมีปัญหาร้องเรียน เกี่ยวกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติภาคเหนือ 13 แห่ง จึงได้มีมติที่ประชุม “ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนขานไปดำเนินการแก้ไข ปัญหาราษฎรร้องเรียนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 13 แห่ง ทับซ้อนพื้นที่ทำกินของราษฎรก่อน”

   หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนขาน ได้เข้าร่วมดำเนินการพิจารณาแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของราษฎร ของคณะกรรมการตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาโดยตลอด จนถึง ปี พ.ศ.2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 เห็นชอบผลการเจรจากลุ่มปัญหาป่าไม้และที่ดิน กรณีป่าอนุรักษ์ภาคเหนือ (เขตอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1) จำนวน 19 แห่ง ซึ่งปรากฏว่าไม่มีรายชื่ออุทยานแห่งชาติขุนขานอยู่ในข้อเรียกร้องแล้ว สำหรับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้ดำเนินการประชุมชี้แจง แก่สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่จำนวน 6 ตำบล รวมทั้งทำการเดินสำรวจกันเขตที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของราษฎรออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ ร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน สมาชิก อบต. และร่วมกันกำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติ พร้อมปรับลดพื้นที่ให้เหมาะต่อการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติในอนาคต ทำให้ขนาดของพื้นที่ลดลงเหลือเนื้อที่ประมาณ 150,000 ไร่

      ในปัจจุบันคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติต่อไปแล้ว

ลักษณะภูมิประเทศ     พื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนขานตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 18 องศา 46 ลิปดา ถึง 19 องศา 02 ลิปดาเหนือ และลองติจูดที่ 98 องศา 23 ลิปดา ถึง 98 องศา 49 ลิปดาตะวันออก อาณาเขตทิศเหนือจด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสะเมิง ท้องที่ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ทิศใต้จดพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน ท้องที่ตำบลบ่อแก้ว ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม ท้องที่ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันออกจด เขตอำเภอแม่ริม ท้องที่ตำบลโป่งแยง ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันตกจด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม ท้องที่ตำบลแม่แดด ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

    พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนโดยทั่วไป มีความสูงตั้งแต่ 500-1,708 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยอดเขาที่สุงที่สุดคือ ยอดดอยปุงเกี้ย สูง 1,708 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำแม่ขาน และแม่น้ำแม่แจ่ม แม่น้ำทั้ง 2 สาย ไหลลงสู่แม่น้ำปิง

ลักษณะภูมิอากาศ
    สภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส ต่ำสุดเฉลี่ย 18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไป 23 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,380 มิลลิเมตร พืชพรรณและสัตว์ป่า สภาพป่าของอุทยานแห่งชาติ ประกอบไปด้วยป่า 5 ชนิด คือ
ป่าดิบเขา พบตามภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป บริเวณตอนบนของพื้นที่และบริเวณเทือกเขาแบ่งเขตอำเภอสะเมิงกับอำเภอแม่แจ่ม พันธุ์ไม้ที่พบมากได้แก่ ก่อ สนสามใบ ทะโล้ ตุ้มเต๋น มะขามป้อม จำปี มะส้าน สารภีป่า นมนาง เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง พบทั่วไปบริเวณหุบเขาและริมลำห้วยในระดับความสูง 600-1,000 เมตร พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ได้แก่ ยาง ตะเคียน มะม่วงป่า ลำไยป่า มะไฟ มะเดื่อ เป็นต้น

ป่าสนเขา พบตามยอดเขาโดยทั่วไปที่ระดับความสูง 700-1,300 เมตร พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ได้แก่ สนสองใบ สนสามใบ ก่อ รัก รัง เหียง เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ พบทางทิศตะวันออกของพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นได้แก่ สัก เติม สมอไทย เส้า แดง ประดู่ เสี้ยว มะแฟน ซ้อ เป็นต้น
ป่าเต็งรัง พบมากโดยทั่วไปบริเวณภูเขาที่ไม่สูงมากนัก พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง สนสองใบ มะกอก เส้า เสี้ยว เป็นต้น


สัตว์ป่าที่มีมาก ได้แก่ เก้ง หมูป่า ไก่ป่า เม่น หมาไน หมาจิ้งจอก นิ่ม ตุ่น กระรอก กระต่ายป่า บ่าง ค้างคาว อีเห็น พังพอน เป็นต้น ที่มีน้อยได้แก่ ลิง ชะนี เสือ เลียงผา นกกก เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น