วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

อุทยานแห่งชาติแม่วาง

อุทยานแห่งชาติแม่วาง



สภาพ พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่วาง เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนของทิวเขาถนนธงชัย ที่ทอดตัวตามแนวเหนือ-ใต้ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 400-1,909 เมตร โดยมีดอยผาตั้งเป็นจุดที่สูงที่สุด นอกจากนี้ยังมียอดเขาต่างๆ ที่มีความสูงแตกต่างลดหลั่นกันมา เช่น ดอยโป่งสมิต สูง 1,547 เมตร ดอยหินหลวง สูง 1,518 เมตร ดอยห้วยหลวง สูง 1,415 เมตร ดอยแม่ลีบ สูง 1,311 เมตร ดอยขุนแม่ซา สูง 1,251 เมตร ดอยผาไล สูง 1,245 เมตร และดอยหน่อ สูง 1,120 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญ 3 สาย ได้แก่ น้ำแม่แจ่ม น้ำแม่วาง น้ำแม่ตื่น ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำปิง

ลักษณะภูมิอากาศ
      พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วางได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัด เอาความชุ่มชื้นและเมฆฝนเข้ามา ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ โดยจะมีฤดูร้อนในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝนในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน และฤดูหนาวในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 20 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูหนาวในเดือนธันวาคม อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 15-17 องศาเซลเซียส มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,000-2,100 มิลลิเมตรต่อปี

พืชพรรณและสัตว์ป่า
      สภาพป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วางสามารถจำแนกออกได้เป็น ป่าเบญจพรรณ พบในพื้นที่ที่มีระดับความสูงระหว่าง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พันธุ์ไม้เด่นที่สำคัญ ได้แก่ สัก ตะแบก ประดู่ แดง มะเกิ้ม สมอไทย กาสามปีก สลีนก กระบก ซ้อ และไผ่ชนิดต่างๆ










      ป่าเต็งรัง พบที่ระดับความสูง 400-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามเนินเขาหรือสันเขาที่แห้งแล้ง พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ประกอบด้วย เต็ง รัง เหียง พลวง พะยอม ป่าสนเขา พบในพื้นที่ที่มีระดับความสูงระหว่าง 900-1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยมีสนสองใบและสนสามใบเป็นไม้เด่น พันธุ์ไม้อื่นและพืชพื้นล่างที่พบได้แก่

      สารภีดอย ค่าหด หว้า เหมือดคนตัวผู้ เม้าแดง รักใหญ่ ทะโล้ ก่อแป้น ก่อเดือย ก่อแพะ สาบเสือ หนาด กระชายป่า และข่าลิง ป่าดิบเขา พบโดยทั่วไปในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น จำปีป่า อบเชย สารภีป่า กำลังเสือโคร่ง และก่อชนิดต่างๆ

      สัตว์ป่าที่พบในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วาง ได้แก่ เก้ง หมูป่า เสือปลา ลิงวอก ชะนีมือขาว ชะมดเช็ด หมาไม้ เม่นหางพวง ลิ่นชวา กระต่ายป่า กระรอกท้องแดง ค้างคาวดอย เหยี่ยวรุ้ง นกกระทาทุ่ง ไก่ป่า ไก่ฟ้าหางลายขวาง นกคุ่มอกลาย นกเขาเขียว นกบั้งรอกใหญ่ นกเค้าโมง นกแอ่นตาล นกขุนแผนหัวแดง นกแก๊ก นกโพระดก นกหัวขวานด่างแคระ นกปรอดทอง นกแซงแซวหางปลา นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า เต่าปูลู เต่าเหลือง กิ้งก่าบินปีกแดง แย้ ตะกวด งูเหลือม งูสามเหลี่ยม งูจงอาง อึ่งลาย กบห้วย ปาดบ้าน และคางคกบ้าน เป็นต้น

ที่มา http://www.dnp.go.th/

อุทยานแห่งชาติแม่โถ

อุทยานแห่งชาติแม่โถ พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่โถตั้ง อยู่บนแนวเทือกเขาสูงที่ทอดตัวยาวต่อเนื่องมาจากดอยอินทนนท์ มีสภาพป่าที่สมบูรณ์และหลากหลายประเภท เหมาะสำหรับการชมธรรมชาติและเที่ยวเล่นน้ำตก อุทยานแห่งชาติแม่โถครอบลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 618,750 ไร่ หรือ 990 ตารางกิโลเมตร ในท้องที่อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่


    ในปี พ.ศ. 2517 กรมป่าไม้โดยกองอนุรักษ์ต้นน้ำ ได้ทำการสำรวจพื้นที่ล่อแหลมและพื้นที่ ถูกบุกรุกทำลายป่าจากชาวบ้านในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธารทางภาคเหนือ และมีโครงการที่จะปลูกป่าเพื่อปรับปรุง พื้นที่ต้นน้ำที่ถูกทำลายให้กลับฟื้นคืนสภาพป่าดังเดิม โดยกำหนดให้มีโครงการจัดตั้งหน่วยพัฒนาและปรับปรุงต้นน้ำขึ้น จำนวน 10 หน่วย และได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 6 (ดอยแม่โถ) ขึ้นที่บ้านแม่โถ หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการปลูกป่าในบริเวณพื้นที่ภูเขาสูงที่เป็นต้นน้ำลำธารที่ถูกทำลาย จนถึงปี พ.ศ. 2523 ได้ปลูกป่าเต็มพื้นที่ตามแผนงาน จึงได้ย้ายหน่วยย่อยแยกไปดำเนินการปลูกป่าที่ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยในพื้นที่ที่ปลูกป่าเต็มตามแผนงานแล้ว ยังคงดำเนินการตามแผนงานการบำรุงป่าต่อไป

    ต่อมาในปี พ.ศ.2534 กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการสำรวจบริเวณพื้นที่ของหน่วย พัฒนาต้นน้ำที่ 6 และบริเวณใกล้เคียงเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และให้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติแม่โถ” อุทยานแห่งชาติแม่โถได้นำเรื่องราวการสำรวจพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ลาย อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2536 เห็นชอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแม่โถ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการสำรวจแนวเขตอุทยานแห่งชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 990 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ     อุทยานแห่งชาติแม่โถ มีพื้นที่อยู่ระหว่างเส้นลองติจูดที่ 18 องศา 07 ลิปดา ถึง 18 องศา 29 ลิปดา เหนือ และเส้นละติจูดที่ 98 องศา 8.5 ลิปดา ถึง 98 องศา 24 ลิปดาตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 990 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 618,750 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาย อำเภอฮอด และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่โถ ตั้งอยู่ที่หน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 6 (ดอยแม่โถ) เดิม ในท้องที่บ้านเลาลี หมู่ที่ 9 (แยกหมู่บ้านมาจากบ้านแม่โถ หมู่ที่ 1) ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่



    อาณาเขตทิศเหนือจดเส้นทาง รพช. สายแม่แจ่ม-บ้านพุย อำเภอแม่แจ่ม ทิศใต้จดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (ฮอด-แม่สะเรียง) และห้วยแม่ลอด ทิศตะวันออกจดอุทยานแห่งชาติออบหลวง และบางส่วนของทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1088 ทิศตะวันตกจดเขตอำเภอแม่สะเรียง และอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

    พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่โถโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน ทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ อยู่แนวเดียวกับเทือกเขา ดอยอินทนนท์ มีความสูงตั้งแต่ 400-1,699 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยจะมีความสลับซับซ้อนและลาดชันจากทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือ กล่าวคือ ทางทิศใต้จะมีความสลับซับซ้อนน้อยกว่าและความลาดชัน เฉลี่ยน้อยโดยเฉลี่ยประมาณ 15-20% ส่วนทางทิศเหนือของพื้นที่จะมีความลาดชันมากขึ้นไปตามลำดับประมาณ 20-48% มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดดอยกิ่วไร่ม้ง อยู่ในท้องที่บ้านปางหินฝน ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม โดยมีความสูง 1,699 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่โถตั้งอยู่ที่ความสูงประมาณ 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ลักษณะภูมิอากาศ     ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปมี 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 25 องศาเซลเซียส และต่ำสุด 10 องศาเซลเซียส ฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 20 องศาเซลเซียส และต่ำสุด 4 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 30 องศาเซลเซียส และต่ำสุด 12 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี สูงสุดประมาณ 27 องศาเซลเซียส และต่ำสุดประมาณ 8 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,030 มิลลิเมตร/ปี


พืชพรรณและสัตว์ป่า
     ชนิดป่าและพันธุ์ไม้ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่โถ ประกอบด้วย ป่าดิบชื้น พบทางด้านทิศเหนือของพื้นที่ในเขตอำเภอแม่แจ่ม พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียนทอง ยาง จำปีป่า ยมหอม มะม่วงป่า เติม ตะคร้ำ ตีนเป็ด พืชพื้นล่างประกอบด้วย ตะคร้าน หมากเต้า พลูดิน เครือต่วย และกระชายป่า ป่าดิบเขา พบในระดับความสูงจากน้ำทะเล 800-1,400 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ก่อแพะ ก่อเดือย ก่อตาหมู รักใหญ่ จำปาป่า พืชพื้นล่างประกอบด้วย หญ้าคมบาง ถั่วแระป่า ค้างคาวดิน สาบหมา เป็นต้น ป่าเบญจพรรณ พบโดยทั่วไปสลับกับป่าดิบเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ สัก แดง ประดู่ ตะแบก เสลา ตะเคียนหนู ยาง พืชพื้นล่างประกอบด้วยพวกไม้ไผ่และหญ้า ป่าสนเขาและป่าเต็งรัง พบโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่อำเภอฮอด จะเห็นป่าสนเขาขึ้นปะปนกับป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ สนสามใบ ก่อ เหมือด รักใหญ่ เต็ง รัง เหียง พลวง พืชพื้นล่างประกอบด้วย หญ้าเพ็ก ไผ่โจด และหญ้าอื่นๆ


    พันธุ์ สัตว์ป่าที่สำคัญ ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประกอบด้วย กระทิง กวางป่า เลียงผา เก้ง หมีควาย ชะนี ลิง ค่าง อีเห็น กระต่ายป่า หมูป่า และช้างป่า ซึ่งมักจะอพยพหากินไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยสลับกับดงสามหมื่นและ ป่าแม่ปาย นก ประกอบด้วย นกยูง ไก่ฟ้าชนิดต่างๆ ไก่ป่า นกแก้ว นกขุนทอง นกขุนแผน เหยี่ยว นกหัวขวาน ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วยงูเหลือม งูหลาม งูเห่า ตะกวด แย้ เต่า ตะพาบน้ำ ฯลฯ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ประกอบด้วย กบชนิดต่างๆ เขียด อึ่งอ่าง ฯลฯ ปลา ยังไม่มีการสำรวจ จะมีปลาอยู่ตามลำห้วยและแม่น้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำแม่แจ่มมีปลามากมายหลายชนิด

ขอบคุณข้อมูล
http://www.dnp.go.th/

อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้

อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอสันกำแพง อำเภอดอยสะเก็ด กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ และท้องที่อำเภอบ้านธิ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำปิง มีพันธุ์ไม้มีค่าและสัตว์ป่าที่สำคัญหลายชนิดและประกอบ ด้วยจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่งเช่น น้ำตก อ่างเก็บน้ำ เขื่อน หน้าผา และยอดเขาที่สูงเด่น เป็นต้น มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 320,750 ไร่ หรือ 513.20 ตารางกิโลเมตร

    เมื่อปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านแม่ตะไคร้ ได้ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ การปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือ ปฏิบัติกันต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษ โดยเฉพาะการประกอบอาชีพเป็นไปด้วยความยากลำบาก ราษฎรมีความเป็นอยู่แร้นแค้น พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการเพื่อพัฒนาอาชีพและส่งเสริมคุณธรรม เพื่อให้ราษฎรมีอาชีพที่มั่นคงถาวร พอกินพอใช้ตามอัตภาพ และให้ยึดถือหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพการครองเรือน เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรในท้องถิ่นที่ใกล้เคียง


     ต่อมาทรงมีรับสั่งและมีหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการ ให้กรมป่าไม้ โดยกองอุทยานแห่งชาติดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยาน เพื่อให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ศึกษาค้นคว้าตามธรรมชาติ การอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารและสัตว์ป่า โดยให้ดำเนินการสนองพระราชดำริในการปรับปรุงพื้นที่เป็นที่อยู่ธุดงค์สถาน ของพระภิกษุสามเณร และเป็นที่ปฏิบัติธรรมของประชาชนทั่วไป ให้ชื่อโครงการว่า “โครงการพัฒนาชนบทยากจนตามพระราชดำริ” การดำเนินการตามแผนงานโครงการเบื้องต้น ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการ กปร. จึงนับได้ว่าเป็นวนอุทยานที่มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น

     ต่อมาในปี 2530 วนอุทยานแม่ตะไคร้ ได้ส่งข้อมูลการสำรวจเบื้องต้น เพื่อยกฐานะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งให้ นายโกศล สงศิริ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ 3 ไปทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ และในปี 2531 อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ได้รายงานเพิ่มเติมว่า พื้นที่ของวนอุทยานที่ดำเนินการอยู่แล้ว และพื้นที่ป่าผนวกเข้าเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ทา ป่าแม่ออน อำเภอสันกำแพง และป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร เป็นพื้นที่ป่าประกอบด้วยสภาพป่าที่สมบูรณ์ และมีอิทธิพลต่อพื้นที่ลุ่มน้ำที่ใช้ในการเกษตรกรรมของราษฎรเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญนานาชนิด สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ตลอดจนจุดเด่นทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง เหมาะสมที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ


     ขณะนี้สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำลังดำเนินการประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

ลักษณะภูมิประเทศ     พื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีความสูงตั้งแต่ 400-2,031 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้น 1 อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง ภูเขาเป็นภูเขาหินปูน มีป่าเบญจพรรณป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าเต็งรัง และป่าทุ่งหญ้า ขึ้นอยู่โดยทั่วไปตามสภาพพื้นที่และความสูงของภูเขาจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่างๆ เป็นป่าต้นน้ำของห้วยแม่ตะไคร้ ห้วยแม่ออน ห้วยแม่ทา และห้วยแม่กวง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง

ลักษณะภูมิอากาศ
    สภาพภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนเมษายน โดยอากาศจะเย็นสบายตลอดทั้งปี อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส


พืชพรรณและสัตว์ป่า
    สภาพป่าประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าทุ่งหญ้า โดยมีชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ สัก แดง ประดู่ ยาง จำปี ก่อ ตะแบก ตะเคียน สน มะค่าโมง เต็ง รัง ไผ่ชนิดต่างๆ เป็นต้น และมีพืชชั้นต่ำพวกมอส เฟิน ขึ้นปกคลุมตามลำต้นและกิ่งก้านของต้นไม้บริเวณป่าดิบเขา

     สัตว์ป่าประกอบด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เก้ง กวางป่า กระต่ายป่า ลิง ชะนี เม่น อีเห็น เสือ หมูป่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบสัตว์จำพวกนกชนิดต่างๆ เช่น นกกางเขน นกแซงแซว นกหัวขวาน นกขุนทอง อีกา และนกฮูก เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูล
http://www.dnp.go.th/

อุทยานแห่งชาติผาแดง

อุทยานแห่งชาติผาแดง  
อุทยาน แห่งชาติผาแดง (เชียงดาว) เป็นแนวเทือกเขาติดต่อจากดอยเชียงดาวและดอยผาแดง เป็นป่าผืนเดียวกันกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ซึ่งรวมเรียกว่า ป่าทางด้านเหนือของประเทศ เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำปิงและแม่แตง เรียกว่า ขุนน้ำปิงและขุนน้ำแม่แตง อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเชียงดาว ท้องที่อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว






      และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ท้องที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่น่าสนใจ คือ

      น้ำตกศรีสังวาลย์ น้ำตกปางตอง น้ำรูนิเวศน์ ถ้ำแกลบ ถ้ำตับเตา บ่อน้ำร้อนโป่งอาง ดอยผาตั้ง ดอยผาแดง จุดชมทิวทัศน์ยอดดอย






      นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 721,825 ไร่ หรือ 1,154.92 ตารางกิโลเมตร

      สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของอุทยานแห่งชาติ ประชาชนรู้จักและคุ้นเคยกับสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาวมาก่อน อีกทั้งเป็นชื่อของอำเภอเชียงดาว ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อเสียง รู้จักกันแพร่หลาย มีจุดเด่นทางธรรมชาติหลายแห่ง เช่น ถ้ำ น้ำตก จุดชมวิว เป็นต้น กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งที่ 475/2532 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2532 ให้นายโชดก จรุงคนธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจเบื้องต้น ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว ท้องที่อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 

       และได้มีการสำรวจเพิ่มเติม ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามนัยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และหน่วยงานอุทยานแห่งชาตินี้ได้ขออนุมัติใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติตามหนังสือ อุทยานแห่งชาติที่ กษ. 0713 (ชด)/9 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2533 ว่า อุทยานแห่งชาติเชียงดาว ซึ่งอธิบดีกรมป่าไม้ (นายไพโรจน์ สุวรรณกร) ให้อนุมัติให้ใช้ชื่อ “อุทยานแห่งชาติเชียงดาว” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2533 ทั้งนี้เพราะเป็นชื่อป่าสงวนแห่งชาติ และอำเภอเชียงดาว ซึ่งประชาชนรู้จักกันดี

       ในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ประชุมครั้งที่ 1/2538 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2538 มีมติเห็นชอบ ให้กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเชียงดาว โดยเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ที่ นร 0204/5718 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2543 ยืนยันมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณป่าเชียง ดาว ในท้องที่ตำบลเมืองนะ ตำบลทุ่งข้างพวง ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ตำบลเปียงหลวง ตำบลแสนไห บลเวียงแหง อำเภอเวียงแหง และป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลศรีดงเย็นอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

       และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องและ เหมาะสมยิ่งขึ้น และสำนักงานเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีนำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินดังกล่าวให้เป็นอุทยานแห่ง ชาติ พ.ศ. 2543 ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายตามหนังสือที่ นร 0204/14602 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 98 ก วันที่ 2 พฤศจิกายน 2543

       ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พิจารณาชื่ออุทยานแห่งชาติให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับจุดเด่น และศักยภาพที่สำคัญของพื้นที่ที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติเชียงดาว เป็นอุทยานแห่งชาติผาแดง




ลักษณะภูมิประเทศ       สภาพโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ภูเขาทางด้านตะวันออกส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินชั้น มีดอยที่สำคัญได้แก่ ดอยถ้ำแกลบ ดอยหัวโท ดอยขุนห้วยไซ ดอยผาแดง ดอยถ้ำง๊อบ ดอยด่านฟาก เป็นต้น ภูเขาทางด้านตะวันตกส่วนใหญ่ เป็นเขตที่มีผืนป่าใหญ่ปกคลุมอยู่มีดอยที่สำคัญได้แก่

      ดอยกำพร้า ดอยปุกผักกา ดอยเหล็กจี ดอยสันกิ่วคมพร้า ดอยกิ่วฮูลม ดอยถ้วย ดอยยางกลอ เทือกเขาตอนกลางระหว่างห้วยแม่จกถึง บ้านหนองเขียวแนวเหนือ-ใต้ เป็นที่ราบลุ่มที่มีความสูงไม่มาก มีดอยถ้ำยุง ดอยขุนเป้า เป็นต้น พื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 400-1,800 เมตร มียอดเขาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่มีความสูงสุดของพื้นที่ได้แก่ ดอยปุกผักกา มีความสูง 1,794 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ลักษณะภูมิอากาศ       อุทยานแห่งชาติเป็นบริเวณที่มีฝนตกชุก เพราะอยู่ในแนวทางที่มีร่องอากาศพาดผ่าน โดยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ภูมิอากาศโดยทั่วไปอากาศค่อนข้างจะร้อนในฤดูร้อนจะหนาวเย็นในฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 7.5 องศาเซลเซียส และเฉลี่ยสูงสุด 26.7 องศาเซลเซียส ฝนตกชุกในฤดูฝน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีประมาณ 1,838.5 มิลลิเมตร

      โดยเดือนสิงหาคมจะมีฝนตกมากที่สุด ลักษณะอากาศที่ผิดปกติ ไม่มีภัยธรรมชาติร้ายแรงมากนัก ยกเว้นในช่วงฤดูฝนมักมีลมแรงจัด ในช่วงฝนตกหนัก มีลูกเห็บตกตามมา ทำลายผลไม้ให้เสียหายได้ และอาจมีน้ำไหลบ่าด้วยความรวดเร็ว มีปริมาณน้ำมากทำความเสียหายแก่เส้นทางคมนาคมในเขตพื้นที่หรือบริเวณใกล้ เคียง

พืชพรรณและสัตว์ป่า
     เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายชนิด ชนิดป่าประกอบด้วย ป่าไม่ผลัดใบ ได้แก่ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่าสนเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญคือ จำปีป่า ยาง ตะเคียน สมอพิเภก อบเชย ทะโล้ ไม้สนเขา ไม้เหียง ไม้พลวง ป่าผลัดใบ ได้แก่ เบญจพรรณ ป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่สำคัญคือ ประดู่ แดงตะแบก ยอป่า เสลา ยมหิน ไผ่เวก ไผ่ป่า หญ้าชนิดต่างๆ เต็ง รัง ติ้ว แต้ว สมอไทย กระโดนฯลฯ

     ป่าแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด เพราะเป็นป่าผืนเดียวกับป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว สัตว์ป่าที่สำคัญประกอบด้วย กวางผา เก้ง หมูป่า วัวแดง กระทิง เม่น ค่าง อีเห็น กระรอก กระแต นกนานาชนิด สัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบชนิดต่างๆ คางคก อึ่งอ่าง เขียด ฯลฯ ส่วนใหญ่พบตามลุ่มน้ำ


ขอบคุณข้อมูล
http://www.dnp.go.th/

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
แต่เดิม ดอยอินทนนท์มีชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” คำว่า ดอยหลวง หมายถึง ภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ




    แต่ก่อนนี้มีฝูงกาลงไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า “ดอยอ่างกา” เมื่อครั้งที่พื้นที่ป่าไม้ทางภาคเหนือ ยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าผู้ครอบครองนครต่างๆ นั้นในสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระองค์เป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของป่าไม้เป็นอันมาก โดยเฉพาะ “ดอยหลวง” พระองค์มีความหวงแหนเป็นพิเศษ ขณะที่ยังมีพระชนม์อยู่ได้สั่งไว้ว่า หากสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ขอให้แบ่งเอาอัฐิส่วนหนึ่งไปบรรจุไว้บนยอดดอยหลวง ด้วย ต่อมาคำว่าดอยหลวงก็ถูกเปลี่ยนเป็น “ดอยอินทนนท์” ตามพระนามของเจ้าผู้ครองนครนั้น และเมื่อขึ้นไปบนยอดเขาสูงนี้ จะเห็นสถูปบรรจุพระอัฐิของพระเจ้า อินทรวิชยานนท์ประดิษฐานอยู่

     อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 482 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม อำเภอจอมทอง และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนมีความสูงตั้งแต่ 400-2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพป่ามีหลายประเภททั้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา โดยเฉพาะป่าดิบเขาบนยอดดอยสูงสุด นับเป็นธรรมชาติที่โดดเด่นที่สุด

     นอกจากนี้บนยอดดอยยังพบพืชจากเขตอบอุ่น เช่น กุหลาบพันปี บัวทอง ต่างไก่ป่า ฯลฯ และตามหน้าผาพบป่ากึ่งอันไพน์ ซึ่งเป็นสังคมพืชที่หาดูได้ยากในเมืองไทย ดอยอินทนนท์เป็นศูนย์รวมของนกป่าเกือบ 400 ชนิด โดยเฉพาะนกหายากหลายชนิดที่อาศัยในที่สูง เช่น นกปีกแพร นกกระทาดง นกศิวะ ฯลฯ ในจำนวนนี้มีมากกว่า 100 ชนิด ที่เป็นนกอพยพย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยบนดอยอินทนนท์ในช่วงฤดูหนาว หลายชนิดพบได้ยากในพื้นที่อื่น เช่น นกเดินดง นกจับแมลง นกจาบปีกอ่อน นกเขน ฯลฯ

     อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติดอยอินทนนท์และป่าเตรียมการสงวนป่าจอม ทอง อำเภอจอมทอง ป่าแม่แจ่ม และป่าแม่ขาน-แม่วาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การสงวนและคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. 2497 และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 โดยออกเป็นกฎกระทรวงฉบับที่ 103 (พ.ศ. 2502) ป่าสงวนแห่งชาติดอยอินทนนท์นี้ต่อมาได้ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 14 ป่า ที่ทางรัฐบาลให้ดำเนินการสำรวจและจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรก ตามนโยบายของรัฐบาลในด้านการอนุรักษ์ การป้องกันและดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ และเพื่อการนำเอาสภาพป่าและสภาพภูมิประเทศต่างๆ ของพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่มาใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางด้านธรรมชาติวิทยาและชีววิทยา

     กองบำรุง กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 119/2508 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 (ขณะนั้นเป็นหมวดอุทยานแห่งชาติ สังกัดกองบำรุง) ให้ นายนิพนธ์ บุญทารมณ์ นักวิชาการป่าไม้ตรีไปทำการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น และเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2515 นายปรีดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีบัญชาให้ นายอุดม ธนัญชยานนท์ นักวิชาการป่าไม้โท ทำการสำรวจทางเฮลิคอปเตอร์เพื่อจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามมติคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2515 ปรากฏว่า ป่าดอยอินทนนท์ มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีสภาพทิวทัศน์และเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม

     และเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ประกอบกับศูนย์อำนวยการร่วมฝ่ายรักษาความมั่นคงแห่งชาติได้มีหนังสือที่ กห 0312/4757 ลงวันที่ 12 เมษายน 2515 เสนอจอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ ให้กำหนดป่าดอยอินทนนท์เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และสภาบริหารคณะปฏิวัติได้มีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน2515 อนุมัติหลักการให้ดำเนินการ กรมป่าไม้จึงดำเนินการจัดตั้งบริเวณที่ดินป่าดอยอินทนนท์ ในท้องที่ตำบลบ้านหลวง ตำบลสบเตี้ยะ ตำบลสองแคว ตำบลยางคราม อำเภอจอมทอง ตำบลแม่วิน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 168,750 ไร่ หรือ 270 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 223 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 148 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 6 ของประเทศ

     เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จที่บริเวณดอยขุนกลาง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้พิจารณาดำเนินการขยายอาณาเขตของอุทยานแห่งชาติออกไปคลุมถึงบริเวณพื้นที่ ที่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำต้นน้ำลำธารเพิ่มขึ้นอีก กรมป่าไม้ได้ทำการตรวจสอบและสำรวจเพิ่มเติม ปรากฎว่า ตามที่กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติระบุท้องที่ตำบลแม่ศึก

     ซึ่งมิได้อยู่ในแนวเขตอุทยานแห่งชาติและมิได้ระบุท้องที่ตำบลช่างเคิ่งและ ตำบลท่าผา ซึ่งอยู่ในแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ดังกล่าว ประกอบกับทางราชการกองทัพอากาศประสงค์ที่จะกันพื้นที่บางส่วนเพื่อก่อสร้าง สถานีเรดาร์ เพื่อใช้ในราชการกองทัพอากาศ เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการได้ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2517 อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสงค์ที่จะปรับปรุงแนวขยายแนวเขตอุทยานแห่ง ชาติออกไป โดยกำหนดป่าสงวนแห่งชาติอินทนนท์ ป่าสงวนแห่งชาติจอมทอง และป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2518 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2518 ได้มีมติเห็นชอบ

     กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงดำเนินการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 3 ป่า จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีพระราชกฤษฎีกำหนดบริเวณป่าดอยอินทนนท์ ในท้องที่ตำบลแม่นาจร ตำบลช่างเคิ่ง ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม ตำบลแม่วิน ตำบลทุ่งปี้ อำเภอสันป่าตอง และตำบลสองแคว ตำบลยางคราม ตำบลบ้านหลวง ตำบลสบเตี้ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95 ตอนที่ 62 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2521 รวมเนื้อที่ 301,500 ไร่ หรือ 482.40 ตารางกิโลเมตร โดยให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 223 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 








     ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่
ลักษณะภูมิประเทศ
     สภาพภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของแนวเขตเทือกเขาถนนธงชัยที่ทอดตัวตามแนวเหนือ-ใต้ ทอดตัวมาจากเทือกเขาหิมาลัยในประเทศเนปาล มีระดับความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 400-2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นจุดที่สูงสุดในประเทศไทย ยอดเขาที่มีระดับสูงรองลงมา คือ ยอดดอยหัวหมดหลวง สูง 2,330 เมตร ยอดดอยหัวหมดน้อย สูง 1,900 เมตร ยอดดอยหัวเสือ สูง1,881 เมตรจากระดับน้ำทะเล

     ลักษณะโครงสร้างทางธรณีของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์โดยทั่วไป ประกอบด้วยหินที่มีอายุตั้งแต่ยุคแคมเบรียนขึ้นไป และหินส่วนใหญ่จะเป็นหินไนส์และหินแกรนิต ส่วนหินชนิดอื่นๆ ที่พบจะเป็นหินยุคออร์โดวิเชียนซึ่งได้แก่หินปูน จนถึงยุคเทอร์เซียรี่ได้แก่หินกรวดมน




     อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิง ให้กำเนิดแม่น้ำลำธารหลายสาย ที่สำคัญได้แก่ ลำน้ำแม่วาง ลำน้ำแม่กลาง ลำน้ำแม่ยะ ลำน้ำแม่หอย ลำน้ำแม่แจ่ม และลำน้ำแม่เตี๊ยะ ซึ่งลำน้ำเหล่านี้จะไหลผ่านและหล่อเลี้ยงชุมชนต่างๆ ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอฮอด อำเภอแม่วาง และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิง

ลักษณะภูมิอากาศ
      สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้รับอิทธิพล จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นและเมฆฝนเข้ามาทำให้ฝนตก และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากประเทศจีนจะนำเอาความหนาวเย็นและ ความแห้งแล้งเข้ามา ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ โดยจะมีฤดูร้อนในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝนในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน



      และฤดูหนาวในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ สลับกันไป แต่เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีความหลากหลายทางด้านระดับ ความสูง ทำให้ลักษณะอากาศในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยจะมีลักษณะของสภาพอากาศแบบเขตร้อนในตอนล่างของพื้นที่ที่ระดับความสูงจาก น้ำทะเลต่ำกว่า 1,000 เมตรลงมา มีสภาพอากาศแบบกึ่งเขตร้อนในบริเวณตอนกลางของพื้นที่ที่มีระดับความสูงจาก น้ำทะเลระหว่าง 1,000-2,000 เมตร และมีสภาพอากาศแบบเขตอบอุ่นในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลกว่า 2,000 เมตรขึ้นไป

      ในพื้นที่สูงตอนบนของอุทยานแห่งชาติ โดยทั่วไปแล้วจะมีสภาพที่ชุ่มชื้นและหนาวเย็นตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณยอดดอยอินทนนท์ซึ่งมีลักษณะเป็นสันเขาและยอดเขา จะมีกระแสลมที่พัดแรงและมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นมาก และในช่วงวันที่หนาวจัดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิจะลดต่ำลงถึง 0-4 องศาเซลเซียส และจะมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้น ที่ระดับกลางของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์


      สภาพอากาศโดยทั่วไปจะมีลักษณะค่อนข้างเย็นและชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 20 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูหนาวในเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 15-17 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,000-2,100 มิลลิเมตร/ต่อปี สำหรับในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,800 เมตรขึ้นไป จะมีสภาพอากาศที่เย็นและชุ่มฉ่ำอยู่

      ทั้งนี้เพราะจะเป็นระดับความสูงของเมฆหมอก ทำให้สภาป่ามีเมฆและหมอกปกคลุมเกือบตลอดปี

พืชพรรณและสัตว์ป่า

      สังคมพืชในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์สามารถจำแนกออกเป็น ป่าเต็งรัง พบกระจายทั่วๆไปในพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติในระดับความสูงจากน้ำทะเล 400-750 เมตร

      ตามเนินเขาหรือสันเขาที่แห้งแล้ง หรือตามด้านลาดทิศตะวันตกและทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ ชนิดไม้ส่วนใหญ่ประกอบด้วย เต็ง รัง เหียง พลวง ก่อแพะ รกฟ้า รักใหญ่ ยอป่า มะขามป้อม ฯลฯ พืชอิงอาศัยพวกเอื้องแซะ เอื้องมะขาม เอื้องแปรงสีฟัน ฯลฯ

      นอกจากนี้ยังมีพวกมอส ไลเคน นมตำเลีย เกล็ดนาคราช ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างจะเป็นไม้พุ่ม หญ้าชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญ้าคา ไม้เถา และพืชล้มลุกชนิดต่างๆ ป่าเบญจพรรณ พบกระจายอยู่ทั่วพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติในชั้นระดับความสูง 400-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

      ตามที่ลุ่มหรือตามแนวสองฝั่งของลำห้วย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก ตะแบก ประดู่ แดง มะเกิ้ม สมอไทย กาสามปีก สลีนก กระบก ซ้อ นอกจากนี้ยังมีไผ่ชนิดต่างๆ พืชอิงอาศัย เช่น เอื้องช้างกระ เอื้องขี้หมา ส่วนพืชพื้นล่างส่วนใหญ่จะเป็นพวกไม้พุ่ม หญ้าคา หญ้าแฝก หญ้าชนิดอื่นๆ ไม้เถา และพืชล้มลุกชนิดต่างๆ

      ป่าดิบแล้ง พบกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยในระดับความสูง 400-1,000 เมตร ตามบริเวณหุบเขา ริมลำห้วย และสบห้วยต่างๆ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางปาย ยางแดง ยางนา ตะเคียนทอง ก่อเดือย ก่อหยุม ก่อลิ้ม ประดู่ส้ม มะไฟป่า ชมพู่น้ำ ไทรย้อย เดื่อหูกวาง พืชพื้นล่างเป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่มีความชื้นสูง เช่น กล้วยป่า หญ้าสองปล้อง เหมือดปลาซิว ตองสาด กระชายป่า ข่าลิง ผักเป็ดไทย ออสมันด้า กูด เฟิน ปาล์ม หวายไส้ไก่ หมากป่า และเขือง เป็นต้น

      ป่าดิบเขาตอนล่าง เป็นป่าที่พบในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,000-1,800 เมตร หรือในบริเวณตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกทำลายจากชาวเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำให้มีป่าที่มีอยู่เป็นป่าที่กำลังฟื้นสภาพ หรือป่ารุ่นใหม่ จะมีป่าดิบเขาดั่งเดิมเหลืออยู่บ้างเพียงเล็กน้อย


      สภาพโดยทั่วไปของป่าดิบเขาในพื้นที่ดอยอิทนนท์จึงมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับ ระบบและวิธีการฟื้นฟูของสังคมพืช ชนิดป่าที่พบที่สำคัญได้แก่ ป่าสนล้วน ป่าก่อผสมสน ป่าก่อ และป่าดิบเขาดั่งเดิม พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ สนสามใบ สารภีดอย เหมือดคนตัวผู้ ก่อแป้น ก่อใบเลื่อม กอเตี้ย ก่อแดง ก่อตาหมูหลวง ก่อนก ทะโล้ จำปีป่า กำลังเสือโคร่ง กล้วยฤาษี นมวัวดอย ฯลฯ

      ป่าดิบเขาตอนบน ขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,800 เมตรขึ้นไป สามารถแบ่งออกได้เป็น ป่าดงดิบ-ป่าก่อชื้น ป่าดงดิบ เขตอบอุ่น และป่าพรุเขตอบอุ่น สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าที่มีต้นไม้สูงใหญ่ และหลายแห่งจะมีลักษณะของป่าดึกดำบรรพ์ พืชพื้นล่างจะไม่แน่นทึบ ทำให้ตามกิ่ง ยอด และลำต้นของไม้ในป่าจะมีมอส กล้วยไม้ เฟิน กุหลาบพันปี สำเภาแดง ขึ้นปกคลุม พันธุ์ไม้ในป่าดิบเขาหรือป่าก่อชื้นได้แก่ ก่อดาน ก่อแอบ จำปีหลวง แกง นางพญาเสือโคร่ง กะทัง


       นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มและไม้เกาะเกี่ยวเช่น คำขาว กุหลาบขาว คำแดง และยังมีต้นโพสามหาง กระโถนฤาษี เป็นต้น ในบริเวณแอ่งน้ำและรอบๆ ป่าพรุจะมีหญ้าชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่ เช่น บัวทอง พญาดง เทียน ผักหนอกดอย มะ แหลบ วาสุกรี บันดงเหลือง ต่างไก่ป่า กุง กูดขน ฯลฯ และบริเวณชายขอบป่าพรุจะมีกุหลาบพันปีสีแดง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบเฉพาะบนยอดดอยอินทนนท์เท่านั้น

       สัตว์ป่าในบริเวณอุทยานแห่งชาติที่นี้มีจำนวนลดลงไปมาก เนื่องจากถูกชาวเขาเผ่าต่างๆ ล่าเป็นอาหาร และป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยถูกถางลงมาก ทำให้สัตว์ใหญ่บางชนิดหมดไปจากป่านี้ สัตว์ที่เหลืออยู่ส่วนมากเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระรอก กระแตธรรมดา กระเล็นขนปลายหูสั้น อ้นเล็ก เม่นหางพวง อีเห็นข้างลาย ชะมดแผงสันหางดำ นกแซงแซวเล็กเหลือบ นกปรอดหัวสีเขม่า นกเด้าดินทุ่ง เหยี่ยว เพเรกริน ไก่ฟ้าหลังขาว นกเงือกคอแดง นกพญาไฟสีกุหลาบ กิ้งก่าหัวสีฟ้า จิ้งเหลนเรียวจุดดำ ตุ๊กแกบ้าน งูลายสอคอแดง กบห้วยสีข้างดำ เขียดหนอง อึ่งกราย คางคกเล็ก ปาดแคระฯลฯ


      แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ยังคงความสำคัญในด้านของการเป็นแหล่งของนก ป่าที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นแหล่งของสัตว์ป่าที่หายาก และมีอยู่เฉพาะถิ่นอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ หนูหญ้าดอย กระท่าง เต่าปูลู นกศิวะหางสีน้ำตาล นกปีกสั้นสีนำเงิน นกกระจิ๊ดคอสีเทา และนกกินปลีหางยาว

ขอบคุณข้อมูล
http://www.dnp.go.th/

อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย





ดอย สุเทพไม่เพียงแต่เป็นที่ตั้งของวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ และพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ที่ประทับช่วงฤดูหนาวของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ทว่าดอยสูงแห่งนี้ยังสมบูรณ์ด้วยสภาพธรรมชาติทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่า โดยเฉพาะนก ประกอบกับการเดินทางเข้าถึงสะดวก เพราะเชิงดอยอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่เพียง 6 กิโลเมตร


         และบนเส้นทางขึ้นสู่ยอดดอยประมาณ 16 กิโลเมตร ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้เที่ยวชมได้ตลอด
ดอย สุเทพ เดิมชื่อว่า “ดอยอ้อยช้าง” สำหรับดอยสุเทพที่เรียกกันในปัจจุบันนี้เป็นชื่อที่ได้มาจาก “พระฤาษีวาสุเทพ” ซึ่งเคยบำเพ็ญตบะอยู่ที่เขาลูกนี้เมื่อพันกว่าปีมาแล้ว

        แต่เดิมก่อนที่ป่าดอยสุเทพจะได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นป่าหวงห้าม ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 28 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2492 ต่อมาได้รับการประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 81 ตอนที่ 124 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2507 และได้มีมติคณะรัฐมนตรีประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติพิเศษเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2510

        ในขณะเดียวกันกองบำรุง กรมป่าไม้ ได้จัดตั้งสถานีวนกรรมภาคเหนือขึ้นในพื้นที่บริเวณดอยสุเทพเพื่อใช้เป็นสถาน ที่ทำการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับการปลูกป่าในที่สูง การปลูกป่าทดแทนพื้นที่ที่ถูกบุกรุก และการทดลองปลูกพืชพรรณไม้ต่างถิ่น เช่น สน ยูคาลิปตัส และไม้เมืองหนาวอีกหลายชนิด ซึ่งยังคงสภาพอยู่หลายแปลงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติในปัจจุบัน

        ในปี พ.ศ. 2516 ทางราชการได้กำหนดป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงส่ง นายปัญญา บุญสมบูรณ์ ออกไปดำเนินการสำรวจป่าดอยสุเทพ-ปุย หลังจากนั้นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติจึงได้มีมติให้กำหนดพื้นที่ที่เป็นป่า ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยกันพื้นที่ของราษฎรออกไป และมีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่า ดอยสุเทพ ในท้องที่ตำบลโป่งแยง ตำบลแม่แรม ตำบลแม่สา ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ตำบลบ้านปง ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง และตำบลช้างเผือก ตำบลสุเทพ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 57 วันที่ 14 เมษายน 2524 ครอบคลุมพื้นที่ 100,662.50 ไร่ หรือ 161.06 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 24 ของประเทศ

       ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2525 ได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายขอบเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ครอบคลุมบริเวณน้ำตกแม่สา น้ำตกตาดหมอก-วังฮาง น้ำตกตาดหมอกฟ้า และพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร โดยรอบของน้ำตกทั้งสามแห่งในพื้นที่ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง และตำบลแม่แรม ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 62,500 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 163,162.50 ไร่ หรือประมาณ 261.06 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 137 วันที่ 26 กันยายน 2525






ลักษณะภูมิประเทศ
      ลักษณะของพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนอยู่ในแนวเทือกเขาถนนธงไชยที่สืบเนื่องต่อจากเทือก เขาหิมาลัย ความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 330-1,685 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยมียอดดอยปุยเป็นจุดที่สูงที่สุด นอกจากนี้มียอดเขาต่างที่สูงลดหลั่นกันมา ได้แก่ ยอดดอยสุเทพที่บริเวณสันกู่ สูง 1,601 เมตร ยอดดอยแม่สาน้อย สูง 1,549 เมตร ยอดดอยค่อมร่อง สูง 1,459 เมตร ยอดดอยบวกห้าบริเวณพระตำหนักภุพิงค์ราชนิเวศน์ สูง 1,400 เมตร ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ สูง 1,130 เมตรจากระดับน้ำทะเล

      สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่อยู่ในเขตอำเภอแม่แตงมีความสูงอยู่ในระหว่าง 400-980 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะโครงสร้างทางธรณีของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยทั่วไปประกอบด้วย หินอัคนี ชนิดที่สำคัญได้แก่ หินแกรนิต นอกจากี้ยังมีหินชั้นและหินแปร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของตัวเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่บางส่วนของอำเภอรอบๆ ได้แก่ อำเภอแม่ริม อำเภอหางดง อำเภอสะเมิง และอำเภอแม่แตง มีลำห้วยที่สำคัญได้แก่ ห้วยตึงเฒ่า ห้วยแม่หยวก ห้วยแก้ว ห้วยช่างเคี่ยน ห้วยปงน้อย ห้วยแม่เหียะ ห้วยแม่นาไทร และห้วยแม่ปอน เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งต้นน้ำลำธารที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง

ลักษณะภูมิอากาศ        สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นและเมฆฝน เข้ามาทำให้ฝนตก และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากประเทศจีนจะนำเอาความหนาวเย็นและ ความแห้งแล้งเข้ามา ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ โดยจะมีฤดูร้อนในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝนในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน และฤดูหนาวในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ สลับกันไป

       แต่เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยมีความหลากหลายทางด้านระดับ ความสูงและมีเทือกเขาสลับซับซ้อนสูง ทำให้ลักษณะอากาศในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยทั่วไปแล้วสภาพภูมิอากาศในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติมีค่าอุณหภูมิเฉลี่ย ตลอดปีอยู่ระหว่าง 2-23 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีระหว่าง 1,350-2,500 มิลลิเมตร โดยมีจำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ย 139 วัน และมีค่าเฉลี่ยความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีระหว่าง 70-80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับบริเวณที่สูงของอุทยานแห่งชาติ เช่น บริเวณยอดดอยปุย สภาพอากาศโดยทั่วไปจะหนาวเย็นและชุ่มชื้น เนื่องจากได้รับไอน้ำจากเมฆหมอกที่ปกคลุมอยู่เกือบตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในพื้นที่อยู่ระหว่าง 10-12 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ในวันที่อากาศหนาวจัด ค่าอุณหภูมิอาจลดลงถึง 4-5 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า
       สังคมพืชในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยสามารถจำแนกออกเป็น ป่าเต็งรัง พบกระจายอยู่บริเวณรอบๆ ชายขอบของอุทยานแห่งชาติที่ระดับความสูงระหว่าง 330-850 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามเนินเขาหรือสันเขาที่แห้งแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านลาดทิศตะวันออกและทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ พืชพรรณส่วนใหญ่ประกอบด้วย เต็ง รัง เหียง พลวง พะยอม ก่อแพะ ก่อตาหมู รักใหญ่ แข้งกวาง หว้า ฯลฯ พืชอิงอาศัย ได้แก่ เอื้องแซะ เอื้องดอกมะขาม เอื้องแปรงสีฟัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมี มอส ไลเคน นมตำเลีย เกล็ดนาคราช และหญ้าชนิดต่างๆ เป็นต้น

       ป่าเบญจพรรณ พบกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ในชั้นระดับความสูง 330-950 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีไผ่ชนิดต่างๆ ขึ้นปะปนอยู่หลายชนิด พืชพรรณประกอบด้วย สัก ตะแบก ประดู่ มะเกิ้ม สมอไทย กาสามปีก สลีนก กระบก ซ้อ ฯลฯ พืชอิงอาศัยได้แก่ เอื้องช้างกระ เอื้องขี้หมา เป็นต้น

       ป่าดิบแล้ง พบกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยในชั้นระดับความสูงระหว่าง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามบริเวณหุบเขา บริเวณต้นน้ำลำธาร เช่น บริเวณน้ำตกมณฑาธาร น้ำตกสันป่ายาง และห้วยแม่ลวด ฯลฯ ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ยางแดง ยางนา ตะเคียนทอง ก่อเดือย ก่อแดง มะไฟป่า เสี้ยวป่าดอกขาว มะเกลือเลือด ฯลฯ พืชพื้นล่างจะเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบความชื้นสูงขึ้นอยู่อย่างแน่นทึบ เช่น กล้วยป่า หมากป่า เขือง หญ้าสองปล้อง เหมือดปลาซิว ตองสาด กระชายป่า ข่าลิง ผักเป็ดไทย ออส มันด้า กูด เฟิน หวายไส้ไก่ เป็นต้น

       ป่าดิบเขา พบในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไปจนถึงบริเวณยอดดอยปุย ต้นไม้ในป่าจะมีพืชเกี่ยวเกาะขึ้นปกคลุมตามลำต้นและเรือนยอดอย่างหนาแน่น ที่สำคัญได้แก่ กล้วยไม้ชนิดต่างๆ ฝอยลม มอส คำขาวหรือกุหลาบพันปีสีขาว ฯลฯ พรรณไม้เด่นที่สำคัญได้แก่ ก่อแป้น ก่อเลือด ก่อนก มณฑาหลวง จำปีป่า สารภีดอย กำลังเสือโคร่ง อบเชย ทะโล้ กำยาน ฯลฯ ในบางแห่งจะมีสนสามใบขึ้นปะปนอยู่ พืชพื้นล่างประกอบด้วยหญ้าคา หญ้าใบไผ่ ม้าสามตอน กูดต้น ขิงป่า ข่าป่า และกระชายป่า เป็นต้น

        สัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จัดได้ว่าเป็นทรัพยากรที่อยู่ในสภาพวิกฤติ ทั้งนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กและขนาดกลางมีจำนวนลด ลงมาก เช่น เก้ง กวางป่า ลิง ชะนี ฯลฯ และสัตว์ขนาดใหญ่บางชนิดได้สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง และเสือ เป็นต้น

         ปัจจุบันสัตว์ป่าที่ยังคงพบเห็นในพื้นที่ได้แก่ หมูป่า อีเห็นเครือ อีเห็นข้างลาย เม่นหางพวง อ้นเล็ก กระจ้อน กระเล็นขนปลายหูสั้น ค้างคาวมงกุฎเล็ก หนูขนเสี้ยนดอย หนูท้องขาว เต่าปูลู จิ้งจกบ้านหางแบนเล็ก กิ้งก่าหัวแดง งูสายม่านพระอินทร์ งูแส้หางม้าเทา อึ่งกรายหัวเล็ก กบหนอง อึ่งขาคำ และนกนานาชนิดกว่า 300 ชนิด เช่น นกกระจิบหญ้าสีข้างแดง นกกระทาทุ่ง นกกะเต็นน้อย นกกางเขนบ้าน นกกาแวน นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกขุนแผน นกเขาใหญ่ นกจับแมลงคอแดง นกจาบคาหัวสีส้ม นกแซงแซวสีเทา นกเด้าดินทุ่ง นกตบยุงหางยาว นกปรอดทอง นกพญาปากกว้างอกสีเงิน นกหกเล็กปากแดง นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกอีวาบตั๊กแตน นกอีเสือหัวดำ เหยี่ยวนกเขาซิครา เป็นต้น


ขอบคุณบทข้อมูล
http://www.dnp.go.th

อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก

             อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก  
               อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก (แม่ฝาง) มีพื้นที่ประมาณ 327,500 ไร่ ครอบคลุมอำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง และอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาว จึงทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่า อันจะเห็นได้จากการพบพืชพรรณ และสัตว์ป่าหายากหลากหลายชนิด และนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่งดงามน่าสนใจ คือ ดอยผ้าห่มปก ดอยสูงอันดับสองของประเทศไทย บ่อน้ำพุร้อน ห้วยแม่ใจ ถ้ำห้วยบอน น้ำตกโป่งน้ำดัง น้ำตกตาดหลวง


    ความเป็นมา : เมื่อปี พ.ศ. 2511 สำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจและตกแต่งให้เป็นสถานที่พักผ่อน ต่อมา ปี พ.ศ. 2524 กรมป่าไม้ได้อนุมัติจัดตั้งให้เป็น “วนอุทยาน” โดยใช้ชื่อว่า “วนอุทยานบ่อน้ำร้อนฝาง” มีพื้นที่ครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำฝาง 31 ตารางกิโลเมตร หรือ 19,375 ไร่ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2531 กองอุทยานแห่งชาติในขณะนั้นได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ของกองอุทยานแห่งชาติมารับ งานวนอุทยานบ่อน้ำร้อนฝาง เพื่อดำเนินการสำรวจและจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป

    ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ได้รับการประกาศจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 97 ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2543 ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 81ก ลงวันที่ 4 กันยายน 2543 โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำฝาง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง และอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามของอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง

   ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พิจารณาชื่ออุทยานแห่งชาติให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับจุดเด่น และศักยภาพที่สำคัญของพื้นที่ที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติแม่ฝาง เป็นอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก


ลักษณะภูมิประเทศ
    สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติแม่ฝางเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทอดยาวในแนวเหนือ-ใต้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาว มีระดับความสูงตั้งแต่ 400-2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีภูเขาที่สำคัญคือ ดอยปู่หมื่น ดอยแหลม และดอยผ้าห่มปก ซึ่งมีความสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ทิศเหนือและทิศตะวันตกมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเมียนม่าร์ ทิศใต้มีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติเชียงดาว ในเขตท้องที่ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันออกติดต่อกับพื้นที่ 5 ตำบลของอำเภอฝาง คือ ตำบลเวียง ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลม่อนปิ่น ตำบลแม่สูน ตำบลแม่งอน พื้นที่ 4 ตำบลของอำเภอแม่อาย คือ ตำบลมะลิกา ตำบลแม่อาย ตำบลแม่สาว ตำบลท่าตอน และพื้นที่ 2 ตำบลของอำเภอไชยปราการ คือ ตำบลหนองบัว และตำบลปงตำ

ลักษณะภูมิอากาศ    สภาพ ภูมิอากาศโดยทั่วไป มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 25.4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดอยู่ในเดือนเมษายนประมาณ 39.1 องศาเซลเซียส และฝนตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 1,183.5 มิลลิเมตร มีอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย 14-19 องศาเซลเซียส ยอดดอยมีอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงฤดูหนาวเฉลี่ยประมาณ 2 องศาเซลเซียส สำหรับในช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 14 องศาเซลเซียส


พืชพรรณและสัตว์ป่า      พืชพรรณ : สภาพป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก สามารถจำแนกโดยอาศัยปัจจัยทางสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ และชนิดพืชพรรณที่ขึ้นอยู่ ได้ 5 ประเภท คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขา ส่วนชนิดพืชพรรณเด่น พืชหายาก และไม้เฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้ในพื้นที่ เช่น มณฑาดอย ลำดวนดอย นางพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น ส่วนไม้พุ่มและไม้ล้มลุก เช่น พิมพ์ใจ บัวทอง หนาดขาว เทียนคำ เทียนดอย หรีดเขา ไม้เถาเลื้อย เช่น นมตำเรีย สะบ้าลิง พาลี และหนามไข่ปู ส่วนพืชเกาะอาศัย เช่น ว่านไก่แดง บีโกเนีย และกล้วยไม้ชนิดต่างๆไม่ต่ำกว่า 70 ชนิด พืชกาฝาก เช่น ดอกดินแดง ขนุนดิน เป็นต้น

    สัตว์ป่า : เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สภาพป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์สูง จึงสามารถพบเห็นสัตว์ป่าได้หลากหลาย ชนิด โดยเฉพาะ “นก” ซึ่งพบกว่า 323 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่นหายาก เช่น นกติ๊ดหัวแดง นกขัติยา นกกระรางอกลาย และนกอพยพเข้ามาในช่วงฤดูหนาว เช่น นกเดินดงสีน้ำตาลแดง นกเดินดงอกเทา และนกเดินดงสีคล้ำ เป็นต้น ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะพบเห็นตัวได้ค่อนข้างยาก ส่วนมากจะพบเพียงรอยเท้า และร่องรอยการหากิน เช่น เสือไฟ หมาไม้ หมีควาย เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า เพียงพอนเส้นหลังขาว และสัตว์ที่มีรายงานการพบใหม่ในประเทศไทยครั้งแรกบริเวณพื้นที่ดอยผ้าห่มปก คือ เพียงพอนยุโรป (Least Weasel) ผีเสื้อ และแมลงเป็นสัตว์ป่าที่พบได้บ่อยในพื้นที่เนื่องจากมีความหลากหลายสูง อีกทั้งสามารถพบเห็นผีเสื้อหายากบางชนิดอีกด้วย ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ผีเสื้อถุงทองธรรมดา ผีเสื้อถุงทองป่าสูง และแมลงชนิดต่างๆ เช่น ด้วงคีมยีราฟ กว่างซาง ด้วงคางคกผา เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น กิ้งก่าคอแดง งูสามเหลี่ยม งูลายสาบคอแดง เต่าปูลู ตะกวด เป็นต้น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่พบ เช่น กบมื่น กบดอยผ้าห่มปก อึ่งแม่หนาว อึ่งกรายห้วยเล็ก ปาดตีนเหลืองเหนือ และกระท่าง เป็นต้น






ขอบคุณข้อมูล
http://www.dnp.go.th