วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า

อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า



อุทยาน แห่งชาติคลองวังเจ้า มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอคลองลาน กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร และกิ่งอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำปิง มีสัตว์ป่า นานาชนิด ตลอดจนจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผา โป่งแก๊สธรรมชาติ เป็นต้น มีเนื้อที่ประมาณ 466,875 ไร่ หรือ 747 ตารางกิโลเมตร

     ด้วย ฯพณฯ พันโทสนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ไปตรวจราชการในท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร เกี่ยวกับการบุกรุกทำลายป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองวังเจ้า และป่าคลองสวนหมาก ท้องที่อำเภอคลองลาน และอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2531 ได้บันทึกสั่งการให้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยาน แห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จังหวัดกำแพงเพชร ได้ประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2531 มีมติเห็นสมควรกำหนดบริเวณป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพธรรมชาติให้อยู่คงเดิม

     กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กษ 0713/1499 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2531 เสนอกรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 1914/2531 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2531 ให้นายวิฑูรย์ อุรัชโนประกร นักวิชาการป่าไม้ 4 สำรวจจัดตั้งป่าบริเวณดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงในท้องที่จังหวัดตากเป็น อุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจตามหนังสืออุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าที่ กษ 0713(วจ)/11 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532 รายงานว่าพื้นที่ป่าคลองวังเจ้า ป่าคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร ได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 488 (พ.ศ. 2515) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 175 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2515 และป่าประดาง-วังเจ้า อำเภอเมืองตาก ได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2507) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 81 ตอนที่ 116 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2507 มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามเหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

     ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าประดาง และป่าวังก์เจ้า ในท้องที่ตำบลเชียงทอง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก และป่าคลองวังเจ้า และป่าคลองสวนหมาก ในท้องที่ตำบลโกสัมพี อำเภอเมืองกำแพงเพชร และตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 107 ตอนที่ 158 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2533 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 63 ของประเทศ




น้ำตกเต่าดำ






น้ำตกคลองวังเจ้า




น้ำตกคลองโป่ง



ลักษณะภูมิประเทศ  
      พื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า อยู่ในเขตรอยต่อระหว่างบริเวณเขตเทือกเขาภาคตะวันตกกับบริเวณขอบที่ราบภาค กลาง สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน แนวเขาวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย ที่ราบอยู่ทางตอนกลางพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะเป็นอ่างกะทะขนาดเล็ก จำนวน 2 แอ่ง พื้นที่ 2,000-5,000 ไร่ แนวเทือกเขาที่สำคัญได้แก่ เขาเย็น เขาสน เขาเต่าดำ เขาขนุน เขาขาแล้ง เขาอีโละโคะ เขาวังเจ้า เขาปั๋งใหญ่ ดอยลวก และเขาวุ๊งกะสัง เป็นต้น ความสูงของพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-1,898 เมตรโดยมียอดเขาเย็นที่อยู่ทางทิศตะวันตกของพื้นที่สูงที่สุด พื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ประกอบด้วย 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำคลองวังเจ้า ประกอบด้วย คลองแม่ยะมา คลองวังเจ้า คลองขุนหมาก คลองแขยง และลุ่มน้ำคลองสวนหมาก ประกอบด้วย คลองไพร คลองวุ๊งกะสัง คลองพลู คลองอีหมี คลองส้มโอ คลองปั๋งใหญ่ คลองสวนหมาก คลองเต่าดำ คลองผู้ใหญ่เลา คลองนายปู คลองขาแข้ง คลองจำปา คลองตะเนาะ และคลองปางขบ เป็นต้น

ลักษณะภูมิอากาศ

      อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ทำให้มีความชื้นในอากาศสูง มีเมฆมาก ฝนตกหนัก มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,318 มิลลิเมตรต่อปี และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลาง เดือนกุมภาพันธ์ ทำให้มีอากาศหนาวเย็น ท้องฟ้าโปร่ง มีอุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคม 14 องศาเซลเซียส และช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างลมมรสุมทั้งสอง อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 36 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า       อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าปกคลุมด้วยพื้นที่ป่า 5 ชนิด ประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ เป็นสังคมพืชที่ปกคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติมากที่สุดประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ พบกระจายตั้งแต่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 200-1,000 เมตร ชนิดไม้ที่พบได้แก่ สัก รกฟ้า แดง ประดู่ และมะกอกเกลื้อน รักใหญ่ เสลา โมกมัน สะทิบ กางขี้มอด ปอตูบหูช้าง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีไผ่ขึ้นปะปนอยู่ด้วย เช่น ไผ่ซางนวล ไผ่ไร่ เป็นต้น เป็นแหล่งอาศัยและหลบภัยของ กระทิง เก้ง กวางป่า เสือปลา หมูป่า สัตว์ฟันแทะต่างๆ ไก่ป่า เป็นต้น

      ป่าดิบเขา พบกระจายบนเขาสูงชันทางด้านทิศตะวันตก ตลอดแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป ชนิดไม้ที่พบได้แก่ ก่อเดือย ก่อใบเลื่อม ฝาละมี ค่าหด สารภีดอย พะวา โพบาย ก่อหม่น ทะโล้ ฯลฯ พืชพื้นล่างค่อนข้างแน่นทึบ เช่น เฟิน ปอ กระวาน อ้อ แขม หวาย เป็นต้น มีสัตว์ขนาดใหญ่เข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ในบางฤดู เช่น กระทิง และยังมีสัตว์ขนาดเล็กอาศัยอยู่ เช่น กระรอกบินเล็กแก้มขาว กระรอกบินจิ๋วท้องขาว นกพญาไฟใหญ่ นกพญาไฟเล็ก นกไต่ไม้ท้องสีเม็ดมะขาม เป็นต้น

     ป่าดิบแล้ง พบกระจายอยู่บริเวณแนวหุบเขาตอนกลางของพื้นที่ ในระดับความสูงประมาณ 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชนิดไม้ที่พบได้แก่ ชุมแสงแดง เสลา ยมหิน กระโดงแดง เติม สะบันงา กระทุ่มน้ำ ลำพูป่า มะเดื่อ ตาว เต่าร้าง ค้อ ฯลฯ เป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร และหลบภัยของ กระทิง กวางป่า กระจงหนู เสือไฟ แมวดาว พญากระรอกท้องดำ นกกก นกเงือกกรามช้าง และนกตั้งล้อ เป็นต้น

     ป่าเต็งรัง พบกระจายเป็นหย่อมๆ ตามบริเวณยอดเขาหรือเนินเขาเตี้ยๆ ทางด้านตะวันออกและตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติ ในระดับความสูงประมาณ 200-800 เมตร ชนิดไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง กระท่อมหมู ก่อนก ก่อแพะ ส้านใหญ่ มะม่วงหัวแมงวัน ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบเป็นจำพวกหญ้า เช่น หญ้าเพ็ก โจด หญ้าคา หญ้าหนวดฤาษีเล็ก เป็นต้น สัตว์ป่าที่พบได้แก่ หมูป่า เก้ง ตะกวด เต่าเหลือง เป็นต้น

     ป่าสนเขา พบกระจายเป็นหย่อมๆ ตามแนวสันเขาและบนยอดเขาบริเวณตอนกลางตามแนวเหนือ-ใต้ ที่ระดับความสูงประมาณ 900-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชนิดไม้ที่พบได้แก่ สนสามใบ มะก่อ ทะโล้ สารภีดอย ตำเสาหนู เป็นต้น มีสัตว์ป่าเข้าไปใช้ประโยชน์บางฤดู เช่น เลียงผา หมูป่า ลิงกัง ชะมดแผงหางปล้อง เม่นเล็กหางพวง หนูฟานเหลือง เป็นต้น บริเวณแหล่งน้ำและลำคลองต่างๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของ นกเงือกกรามช้าง นกหัวขวานเขียวป่าไผ่ นกกะเต็นหัวดำ นกเป็ดผีเล็ก เขียดว้าก กบหนอง กบห้วยขาปุ่ม อึ่งกรายห้วยเล็ก กบทูด อึ่งขาคำ จงโคร่ง อึ่งน้ำเต้า อึ่งอ่างก้นขีด คางคกแคระ เขียดจะนา ปลาจาด ปลาซิวควายแถบดำ ปลาตะเพียนน้ำตก ปลาพลวงหิน ปลาแขยงหิน ปลาช่อน ปลาสลาด ปลากด เป็นต้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น